การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ MICHELIN จัดงานแถลงข่าว The MICHELIN Guide Ceremony Thailand 2024 เปิดตัว ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 ขยายพื้นที่ใหม่สู่เกาะสมุยและสุราษฎร์ธานี โดยฉบับล่าสุดมีร้านอาหารผ่านการคัดสรรทั้งสิ้น 447 ร้าน พร้อมมอบรางวัลอันทรงเกียรติแก่ร้านอาหาร ‘ดาวมิชลิน’ (MICHELIN Star) และ 4 รางวัลพิเศษแก่บุคลากรมืออาชีพในแวดวงร้านอาหารของประเทศไทย
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า คู่มือ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมระดับโลก สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ท่องเที่ยวและเพิ่มคุณค่าแห่งประสบการณ์ที่มีความหมายและเติมเต็มความสุขระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยจากผลการศึกษาวิจัยจำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 คาดว่า มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย สามารถสร้างรายได้มูลค่าส่วนเพิ่มด้านอาหารของประเทศไทยให้กับการท่องเที่ยวแล้วสูงกว่า 1,300 ล้านบาท สำหรับ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (The MICHELIN Guide Thailand 2024) ปีนี้ขยายขอบเขตเข้าจัดอันดับร้านอาหารบนเกาะสมุยและแผ่นดินใหญ่ของสุราษฎร์ธานี ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจร้านอาหารในท้องถิ่นที่จะได้ต้อนรับนักชิมจากทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสรสชาติและวัฒนธรรมอาหารเมืองชายทะเลฝั่งอ่าวไทยที่มีเอกลักษณ์หรอยแรงอันโดดเด่นเฉพาะตัว
มิชลิน ไกด์ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (The MICHELIN Guide Thailand 2024) บรรจุรายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรรวมทั้งสิ้น 447 แห่ง เป็นร้านที่ได้รับรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ จำนวน 7 ร้าน โดยเป็นร้านอาหารที่เลื่อนระดับจาก ‘1 ดาวมิชลิน’ จำนวน 2 ร้าน ได้แก่ บ้านเทพา และ กา รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ จำนวน 28 ร้าน โดยเป็นร้านที่ติดอันดับครั้งแรก 3 ร้าน ได้แก่ อินดี, นว และสำรับสำหรับไทย และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน ได้แก่ ร้านมีอา เรโซแนนซ์ และ วรรณยุค รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จำนวน 196 ร้าน โดยเป็นร้านอาหารที่ติดอันดับครั้งแรก 28 ร้าน และมาจาก MICHELIN Selected 4 ร้าน
และร้านแนะนำ (MICHELIN Selected) อีกจำนวน 216 ร้าน โดยติดอันดับครั้งแรก 37 ร้าน ถือเป็นคู่มือเล่มที่บรรจุร้านอาหารที่ได้รางวัลในประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและมีจำนวนสูงสุดตั้งแต่เคยมีมา และในจำนวนร้านหน้าใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 7 ของไทย 23 ร้านตั้งอยู่ในเกาะสมุย (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 4 ร้าน และ MICHELIN Selected 7 ร้าน) และสุราษฎร์ธานี (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 8 ร้าน และ MICHELIN Selected 4 ร้าน) นอกจากนี้ รางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” ที่มอบให้กับร้านอาหารที่มีแนวปฏิบัติด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มี 4 รางวัล โดยในปีนี้มีร้านอาหารครองรางวัลนี้เพิ่มขึ้น 1 ร้าน ได้แก่ เเฌม บาย ฌอง-มิเชล โลรองต์ ซึ่งอีก 3 ร้านที่ยังครองรางวัล ได้แก่ พรุ Haoma และ จำปา
นอกจากนี้ คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ประจำปี 2567 ยังมอบรางวัลพิเศษรวม 4 รางวัล ให้กับบุคลากรมืออาชีพจากร้านอาหารที่ติดอันดับในคู่มือฯ ได้แก่ รางวัล MICHELIN Young Chef Award มอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ของร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่มีทักษะความสามารถโดดเด่น คือ เชฟ “ตาม” ชุดารี เทพาคำ จากร้านบ้านเทพา รางวัล MICHELIN Opening of the Year Award มอบให้กับบุคลากรและทีมงานซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารใหม่และมีแนวคิดนำเสนออาหารอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นกระแสในวงการอาหารของประเทศ ปี 2567 คือ วิชชุพล เจริญทรัพย์ เจ้าของร้านนว รางวัล MICHELIN Service Award มอบให้สุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการ คือ หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) จากร้านเชฟส์เทเบิล และรางวัล MICHELIN Sommelier Award มอบให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น และมีความชำนาญเกี่ยวกับไวน์ชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ด้านอรรถรสสูงสุด โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ ธนากร บอทอร์ฟ จากร้านอินดี
ความสำเร็จของร้านอาหารมิชลินถือเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญ สะท้อนคุณภาพและศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จากผลการดำเนินโครงการ The MICHELIN Guide Thailandในปี 2562 และในปี 2565 – 2566 ประเมินโดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด สะท้อนให้เห็นว่า โครงการฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้านภาพลักษณ์และเชิงเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม พบว่าภาพลักษณ์การเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอาหาร (Gastronomy Tourism) ของประเทศไทยจากทัศนคติของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 38 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 44 ในปี 2566 และประเทศไทยได้รับคะแนนทัศนคติของชาวไทยด้านการเป็นผู้นำการเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอาหารในระดับสากลสูงถึงร้อยละ 99 (จากเดิมปี 2565 ร้อยละ 94 และปี 2562 ร้อยละ 90)
ขณะที่ในเชิงรายได้ ในปี พ.ศ. 2561-2562 การดำเนินโครงการสามารถสร้างรายได้ส่วนเพิ่มด้านอาหารของประเทศไทยจากการดำเนินโครงการฯ ประมาณ 842.4 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 สร้างมูลค่าส่วนเพิ่มประมาณ 223.4 ล้านบาท และในปี 2566 จำนวนประมาณ 263 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเกิดประโยชน์ทั้งต่อร้านอาหารโดยตรงและผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-40 มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพร้านอาหาร มีการแข่งขันและพัฒนาเพื่อรักษามาตรฐานของร้านอาหาร อันจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการยกระดับห่วงโซ่อุปทานและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยในเชิงคุณภาพระยะยาวต่อไป